หมวดหมู่: ธปท.

1aaa Kดอน นาครทรรพ


ธปท. เผยศก.ไทยปี 63 โตต่ำศักยภาพ รับห่วงบาทแข็งค่า พร้อมใช้มาตรการดูแล

  ธปท. เผยศก.ไทยปี 63 ขยายตัวต่ำศักยภาพ รับกังวลบาทแข็งค่า พร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น ด้านเงินเฟ้อทั่วไปคาดเข้ากรอบเป้าหมายครึ่งหลังปี 64 ฝากภาครัฐ - เอกชนเร่งลงทุนเพิ่มกระตุ้นศก.

  นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพ จากการส่งออกสินค้าที่ชะลอตัวกว่าที่ประเมินและมีโอกาสฟื้นตัวช้า โดยในปีนี้คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) จะขยายตัวได้ 2.8% จากเดิมคาด 3.3%

  สำหรับ ภาคการส่งออกสินค้าหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้และมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากการกีดกันทางการค้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก โดยการส่งออกในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 0.5% เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าจะติดลบ 3.3% และนำเข้าขยายตัวได้ 1.4% จากปีนี้ที่คาดว่าจะติดลบ 5.2%

  ด้านการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานบางโครงการ ด้านการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงจากรายได้และการจ้างงานที่ปรับลดลงโดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อการส่งออก สำหรับหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง เป็นผลจากภัยแล้ง ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อรายได้เกษตรกรในปี 2563

  “ในปีนี้การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามการฟื้นตัวของปริมาณการค้าโลกและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวสูงในระยะสั้นจากมาตรการภาครัฐ แต่คาดว่าจะชะลอลงในระยะต่อไปจากปัจจัยรายได้”นายดอน กล่าว

  นายดอน กล่าวว่า ด้านสถานการณ์ค่าเงินบาท ยอมรับว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบคู่ค้า แม้จะชะลอลงและเคลื่อนไหวสองทิศทางมากขึ้น จึงยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามผลของมาตรการผ่อนคลายให้เงินทุนไหลออก และพิจารณาความจำเป็นในการออกมาตรการเพิ่มเติมด้วย

 “กนง.สนับสนุนให้ธปท.ดำเนินมาตรการเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น และผ่อนคลายเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงิน เพื่อสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายและช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายเราไม่ได้ปิดประตูเรื่องดอกเบี้ย ยังสามารถทำได้เพิ่มเติมหากสถานการณ์ผิดไปจากที่คาดการณ์ไว้”นายดอน กล่าว

  อย่างไรก็ตาม ระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ยังสะสมความเปราะบางภายใต้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง กนง.เห็นว่าการดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินควรใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่กับการใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ร่วมกันอย่างเหมาะสม

  ทั้งนี้ กนง.เห็นว่า เศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน เช่น ด้านแรงงาน การเข้าสู่สังคมสูงวัยทำให้ประชากรวัยทำงานลดลง ธุรกิจนำเข้าอัตโนมัติมาใช้แรงงานมากขึ้น นอกจากนี้ แรงงานที่ถูกเลิกจ้างอาจกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานยากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานสูงอายุและมีทักษะที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด

  ด้านการลงทุน การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างว่า ไทนมีการออมสูง และการลงทุนต่ำโดยเฉพาะในภาคธุรกิจ การลงทุนของไทยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศแม้เงินออมจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นควรสนับสนุนให้ลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและเสริมศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

 นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2562 และ 2563 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จากราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาดตามเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวต่ำและอุปทานพลังงานที่จะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

 สำหรับ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปปี 2563 จะอยู่ที่ 1-3% โดยสาเหตุที่ธปท.ปรับลดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินและอัตราเงินเฟ้อของไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ส่วนกรณีที่เปลี่ยนมาใช้แบบช่วง โดยไม่มีค่ากลาง เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับนโยบายการเงิน ภายใต้โลกที่ผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง

 ขณะที่การปรับปรุงเกณฑ์การสื่อสารผ่านจดหมายเปิดผนึก เมื่ออัตราเงินเฟ้อออกนอกกรอบเป้าหมาย เพื่อให้ กนง.แสดงความรับผิดชอบและสื่อสารกับสาธารณชนได้ทันการณ์ รวมทั้งสอดคล้องกับหลักการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องมองไปข้างหน้า

   ทั้งนี้ ระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังคงสะสมความเปราะบางภายใต้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง กนง. เห็นว่าการดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินควรใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่กับการใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ร่วมกันอย่างเหมาะสม

 "กนง. เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน เช่น ด้านแรงงาน การเข้าสู่สังคมสูงวัยทำให้มีประชากรวัยทำงานลดลง ธุรกิจนำระบบอัตโนมัติ (automation) มาใช้แทนแรงงานมากขึ้น รูปแบบการจ้างงานเริ่มเปลี่ยนเป็นการรับเหมาบริการและ sub-contract มากขึ้น ซึ่งมีความมั่นคงและสวัสดิการน้อยกว่าการจ้างงานประจำ " นายทิตนันทิ์ กล่าว

 นอกจากนี้ แรงงานที่ถูกเลิกจ้างอาจกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานยากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานสูงอายุและมีทักษะที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ด้านการลงทุน การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างว่า ประเทศไทยมีการออมสูงและการลงทุนต่ำโดยเฉพาะในภาคธุรกิจ การลงทุนของไทยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศแม้เงินออมจะเพิ่มสูงต่อเนื่อง ดังนั้น ควรสนับสนุนให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและเสริมศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ธปท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจธ.ค. ปรับลดลง สะท้อนความกังวลกำลังซื้อในประเทศ

        ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนธ.ค.62 อยู่ที่ระดับ 45.1 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีฯ ของภาคการผลิตอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 และปรับลดลงในเกือบทุกองค์ประกอบ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในภาคการผลิตโดยรวมที่ยังแย่ลงต่อเนื่อง นำโดยกลุ่มผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ และกลุ่มผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่มีความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อที่ลดลงมาก ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านการผลิตและผลประกอบการลดลงตามไปด้วย

        สำหรับ ผู้ประกอบการในภาคที่มิใช่การผลิต มีความเชื่อมั่นปรับลดลงเช่นกัน นำโดยภาคการค้าส่งและค้าปลีกที่มีความเชื่อมั่นด้านปริมาณการค้า คำสั่งซื้อ และผลประกอบการลดลง สะท้อนความกังวลต่อกำลังซื้อในประเทศ ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ ความเชื่อมั่นลดลงจากด้านปริมาณการก่อสร้างเป็สำคัญ

       ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีฯ ปรับลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อยมาอยู่ที่ 52.0 จากมุมมองเชิงบวกที่ปรับลดลงของผู้ประกอบการในภาคที่มิใช่การผลิต โดยเฉพาะภาคค้าปลีกและค้าส่งที่มีความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อและปริมาณการค้าปรับลดลงมาก คาดว่าส่วนหนึ่งเนื่องจากยังไม่เห็นความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

                ขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นในระยะข้างหน้าของภาคการผลิตปรับดีขึ้น นำโดยกลุ่มผลิตเคมีและปิโตรเลียม และกลุ่มผลิตอิเล็กทรอนิกส์จากความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อ และผลประกอบการที่ปรับดีขึ้นเป็นสำคัญ

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กนง.มองศก.ไทยปี 63 โต 2.8% จับตาสงครามการค้า-กังวลบาทแข็งค่า

      กนง. คาดเศรษฐกิจไทยปี 63 ขยายตัว 2.8% และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 64 ตามโครงการลงทุน PPP และการลงทุนภาครัฐ พร้อมจับตาปัจจัยเสี่ยงสงครามการค้า-ใช้จ่ายในประเทศชะลอ เหตุงบปี 63 ล่าช้า พร้อมรับกังวลสถานการณ์บาทแข็งเกินคู่แข่ง ด้านเงินเฟ้อทั่วไปคาดเข้ากรอบเป้าหมายครึ่งหลังปี 64

      รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 8/2562 ว่า คณะกรรมการประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัวได้ 2.5% และในปี 2563 ขยายตัวได้ 2.8%

 ทั้งนี้ คณะกรรมการประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องในปี 2564 ตามโครงการร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และโครงการลงทุนของภาครัฐบางโครงการที่เลื่อนไปดำเนินการในปี 2564

 สำหรับ ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย ยังต้องจับตา ปริมาณการค้าโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าที่อาจชะลอลงกว่าที่คาดจากการกีดกันทางการค้าที่อาจกลับมารุนแรง อุปสงค์ในประเทศที่อาจขยายตัวชะลอลงกว่าคาดจากพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และการดำเนินนโยบายภาครัฐที่ล่าช้า

 ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนที่อาจชะลอลงกว่าคาด ตามรายได้ครัวเรือนที่อาจชะลอลง จากผลกระทบของภาคการส่งออกต่อการจ้างงานและภัยธรรมชาติที่อาจรุนแรงขึ้น และความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะปานกลาง

 ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2562 และ 2563 มีแนวโน้มต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จากราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาดตามเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวในระดับต่ำและอุปทานพลังงานที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2563 น้อยกว่าที่เคยประเมินไว้

 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน มีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นในปี 2563 และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564

 สำหรับ ภาวะตลาดการเงิน บรรยากาศการลงทุนในตลาดการเงินโลกปรับดีขึ้นในระยะสั้นจากแนวโน้มการบรรลุข้อตกลงทางการค้าระยะแรกระหว่างสหรัฐ และจีน สถานการณ์ Brexit มีความชัดเจนขึ้น รวมทั้งข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลักเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินโลกเคลื่อนไหวผันผวนลดลง

      นอกจากนี้ ธนาคารกลางของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักมีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยบวกเพิ่มเติมให้นักลงทุนกลับมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น

 ส่วนตลาดการเงินในประเทศ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งก่อน ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นของไทยปรับลดลง ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยสูงขึ้น ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐ แต่การปรับขึ้นค่อนข้างจำกัด เนื่องจากนักลงทุนและต่างชาติต่างถือครองพันธบัตรระยะยาวของไทยเพิ่มขึ้นหลังการปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในพันธบัตรไทยในดัชนีอ้างอิงเพื่อการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลก

 ทั้งนี้ มองไปข้างหน้า คณะกรรมการเห็นว่า ตลาดการเงินในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง จากปัจจัยต่างประเทศและในประเทศ เช่น ความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ที่อาจยืดเยื้อ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและไทย รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศและอาจกดดันให้ราคาสินทรัพย์และอัตราแลกเปลี่ยนของไทยผันผวนได้

  อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ ยังกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง จึงให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านต่างประเทศที่ยังมีอยู่สูง รวมถึงให้ติดตามประสิทธิผลของการผ่อนคลายเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและพิจารณาความจำเป็นในการดำเนินมาตรการเพิ่มเติมด้วย

ธปท.เผยเงินบาทกลับมาอ่อนค่า แต่ยังผันผวน พร้อมจับตาใกล้ชิด

      ธปท.เผยเช้านี้เงินบาทเริ่มกลับมาอ่อนค่า หลังสภาพคล่องในตลาดเริ่มกลับสูงภาวะปกติ แต่ยังมีความผันผวนสูง พร้อมติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

       นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อ่อนค่าลงมาที่ระดับ มาที่ระดับ 30.18 บาทต่อดอลลาร์ จากสิ้นปี 62 ที่แข็งค่าเร็ว เป็นผลจากสภาพคล่องในตลาดเริ่มกลับมาเป็นปกติ แต่ค่าเงินบาทยังมีความผันผวนสูง ในสภาวะที่ตลาดกำลังมีการปรับสมดุลระหว่างแรงซื้อและแรงขายดอลลาร์

      ทั้งนี้ ธปท. จะดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยผู้ร่วมตลาดอาจรอดูสถานการณ์การปรับตัวของตลาดสู่ภาวะปกติก่อนเร่งทำธุรกรรม

นายกฯ สั่งคลัง-ธปท.ติดตามเงินบาทใกล้ชิด หลังแข็งค่าหลุด 30 บาท/ดอลลาร์

     นายกฯ สั่งคลัง-ธปท. ติดตามสถานการณ์เงินบาทใกล้ชิดพร้อมหามาตรการเสริมอื่นเพิ่มเติม หลังแข็งค่าสุด 30 บาทต่อดอลลาร์ ด้านนักวิชาการมองศก.ปีนี้หนัก วอนทุกฝ่ายร่วมแก้ปัญหา อย่าวิจารณ์อย่างเดียว

       พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าจนหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์นั้น ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างต่อเนื่อง และได้ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการเสถียรภาพระบบการเงินเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งให้ติดตามมาตรการต่างๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้านี้ รวมถึงมาตรการอื่นเพิ่มเติมตามความเหมาะสมหากจำเป็น

       “ในวันนี้ ได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง ธปท. และหน่วยงานด้านเศรษฐกิจเรียบร้อยแล้ว เพื่อติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทและหามาตรการเสริมอื่นๆเพื่อเข้ามาช่วยด้วย”พลเอกประยุทธ์ กล่าว

      กรณีที่นักวิชาการ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะหนักกว่าปีที่ผ่านมานั้นว่า ทุกคนจะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา โดยรัฐบาลพร้อมรับฟังแนวคิดในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และอยากให้ทุกคนร่วมกันทำมากกว่าวิพากษ์วิจารณ์เพียงอย่างเดียว ซึ่งหากเป็นแนวคิดที่ดีตนพร้อมรับไปดำเนินการต่อ

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!