หมวดหมู่: ธปท.

1aaa Kวิรไท สันติประภพ


ผู้ว่าธปท.มองเงินบาทเริ่มสมดุล แต่รับ นลท.เริ่มมองไทยไม่ใช่ Save Haven

     ผู้ว่าธปท. ระบุ นักลงทุนเริ่มมองไทยไม่ใช่ Save Haven เหตุเศรษฐกิจไทยยังชะลอ ขณะที่มองค่าเงินบาทสมดุลมากขึ้นมีทั้งฝั่งซื้อ-ขาย เตรียมผ่อนคลายเกณฑ์ LTV เพิ่มเติม หนุนประชาชนมีบ้านเป็นของตัวเอง ด้านสถานการณ์อิหร่าน-สหรัฐ จับตาใกล้ชิด แนะบริหารจัดการสต๊อกน้ำมัน

      นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึง สถานการณ์ค่าเงินบาทว่า ขณะนี้พบว่าตลาดมีความสมดุลมากขึ้น โดยมีทั้งฝั่งซื้อ และฝั่งขาย แต่อย่างไรก็ตาม ธปท.จะติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดต่อไป ขณะเดียวกันในระยะหลัง นักลงทุนเริ่มมองไทยไม่ใช่ Save Haven เพราะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลง ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรยังอยู่ระดับต่ำ

       “ค่าเงินบาทจะไม่ได้เคลื่อนไหวในทิศทางเดียว แต่จะสองทิศทางมากขึ้น ประกอบกับเหตุการณ์สหรัฐ-อิหร่าน ที่ไทยเป็นผู้นำเข้าพลังงาน จึงมองว่าจังหวะนี้ไม่คิดว่านักลงทุนจะมองไทยเป็น Save Haven และที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกมาตรการต่างๆ ทำให้ยากขึ้นที่จะเอาเงินมาพักในไทย ด้านอัตราดอกเบี้ยของไทยจะปรับลดลงได้อีกหรือไม่ การดำเนินนโยบายการเงิน จะต้องยึดหลัก data dependent และหากสถานการณ์ต่างไปจากการประเมินพร้อมใช้มาตรการที่เหมาะสมต่อไป”นายวิรไท กล่าว

       ขณะนี้ธปท.อยู่ระหว่างการทบทวนเกณฑ์ LTV หลังจากที่ดำเนินการมาตั้งแต่เมษายน 2562 ซึ่งหากพบว่า เกณฑ์ใดที่เข้มงวดเกินไป อาจผ่อนคลายเพิ่มเติมได้ ซึ่งจะพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป สำหรับที่ผ่านมา ธปท.ได้ผ่อนคลายเกณฑ์ไปบ้างแล้ว ในส่วนผู้กู้ร่วม โดยไม่นับเป็นกรรมสิทธิ์หลังที่ 2 หากต้องการยื่นกู้เป็นของตัวเอง เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีบ้าน

        ส่วนสถานการณ์ระหว่างสหรัฐ และอิหร่าน ถือเป็นเรื่องที่ต้องติดตามใกล้ชิด เนื่องจากประเทศไทยนำเข้าพลังงานสูง แม้ว่าเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยจะแข็งแกร่ง และไม่ได้อ่อนไหว หรือเปราะบางจากเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะเดียวกัน เนื่องจากไทยนำเข้าพลังงานสูง อาจเป็นโอกาสดีในการนำเข้าพลังงานเพิ่มได้ หากมีความไม่แน่นอน

       “การที่เราเกินดุลก็มีข้อดี คือ เราอาจนำเข้าพลังงานได้เพิ่มขึ้นได้ สิ่งสำคัญคือ การบริหารสต๊อกน้ำมัน ซึ่งเชื่อว่ากระทรวงพลังงานจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนกรณีที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเข้ากรอบเร็วขึ้นหรือไม่นั้น มองว่า ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม”นายวิรไท กล่าว

     จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในที่ผ่านมา ธปท.ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้ของธปท. เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งจะเป็นหนึ่งในแพคเกจที่จะเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเช่นเดียวกัน โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563-31 ธันวาคม 2564 ซึ่งมาตรการดังกล่าวนั้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

      สำหรับ การปรับปรุงเกณฑ์ปรับโครงสร้างหนี้ของธปท. นั้น จะประกอบด้วย มาตรการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน สำหรับลูกหนี้ที่ไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้สถาบันการเงินสามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ล่วงหน้า โดยไม่ต้องรอให้เป็นหนี้เสีย ซึ่งอาจเป็นการลดดอกเบี้ย การขยายเวลาการชำระหนี้ ซึ่งถือเป็นการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน ไม่เป็น TDR หรือ Troubled Debt Restructuring ไม่ติดเครดิตใน NCB และจัดชั้นเป็นลูกหนี้ปกติ

      ส่วนมาตรการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่เป็น NPL ให้เลื่อนขั้นเป็นลูกหนี้ปกติได้ เมื่อลูกหนี้ปรับโครงสร้างและชำระหนี้ได้ 3 เดือน หรือ 3 งวดติดต่อกัน โดยไม่ต้องรอ 12 เดือน มาตรการสนับสนุนสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ให้สินเชื่อใหม่ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยสามารถจัดชั้นเป็นหนี้ปกติได้ หากลูกหนี้มีกระแสเงินสดรองรับการชำระหนี้ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง

     นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้สถาบันการเงินไม่ลดวงเงินที่ยังไม่ได้ใช้ของลูกหนี้ และไม่ต้องกันสำรองสำหรับวงเงินสินเชื่อที่ลูกหนี้ยังไม่ได้ใช้ โดยให้กันเฉพาะส่วนที่เบิกใช้แล้ว ส่วนการรายงานเป้าสินเชื่อแก่ธปท. ให้สถาบันการเงิน รายงานเป้าสินเชื่อตามมาตรการและยอดคงค้างสินเชื่อของลูกหนี้เอสเอ็มอีเป็นรายเดือนภายใน 21 วันนับจากวันสิ้นเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2563-ธันวาคม 2564

      สำหรับ บทบาทของสมาคมธนาคารและสภาสถาบันการเงินของรัฐในการปรับโครงสร้างหนี้ จะประกอบด้วย การสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่ยังผ่อนชำระได้ปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็น NPL ให้สถาบันการเงินพิจารณาขยายเวลาการชำระหนี้ให้ยาวสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงพิจารณาดอกเบี้ยผ่อนปรนสำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหา

     นอกจากนี้ ยังให้ปรับปรุงการคำนวณ ยกเว้นค่าผิดนัดชำระสินเชื่อ ให้สถาบันการเงินพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ปัจจุบันใช้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นเงินทุนหมุนเวียนซึ่งมีดอกเบี้ยสูง และร่วมกับธปท. เพื่อกำหนดกรอบการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย

     ในด้านการช่วยเหลือลูกหนี้บัตรเครดิตที่จ่ายดอกเบี้ยสูงนั้น ให้สามารถเปลี่ยนยอดหนี้บัตรเครดิตเป็น term loan ที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกลงได้ โดยไม่ต้องยกเลิกบัตร ส่วนค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร เดิมไม่มีการคืนส่วนต่างหรือคืนเมื่อร้องขอเท่านั้น เกณฑ์ใหม่ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรแก่ผู้ใช้บริการโดยไม่ต้องให้ผู้ใช้บริการร้องขอ และกรณีต้องออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน เดิมจะเรียกเก็บทุกกรณี เกณฑ์ใหม่ให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน แต่หากกรณีที่ออกบัตรหรือรหัสทดแทนมีต้นทุนสูงอาจพิจารณาจัดเก็บได้ตามความเหมาะสม

       ทั้งนี้ ในระยะต่อไป ธปท.ขอให้ผู้ให้บริการนำหลักการคิดดอกเบี้ยและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใน 4 เรื่องดังต่อไปนิมาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆ ด้วย ต้องสะท้อนต้นทุนจริงจากการให้บริการ ต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้บริการจนเกินสมควรและคำนึงถึงความสามารถในการชำระของผู้ใช้บริการ ต้องไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน และ ต้องเปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน

         นอกจากนี้ ธปท. จะจัดให้มีการเปรียบเทียบข้อมูลอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของผู้ให้บริการแต่ละรายเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ใช้บริการและเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เหมาะสมมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ การปรับปรุงในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการต่อระบบการเงินของไทยและสนับสนุนให้ผู้ให้บริการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

ธปท. เผยศก.ไทยปี 63 โตต่ำศักยภาพ รับห่วงบาทแข็งค่า พร้อมใช้มาตรการดูแล

     ธปท. เผยศก.ไทยปี 63 ขยายตัวต่ำศักยภาพ รับกังวลบาทแข็งค่า พร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น ด้านเงินเฟ้อทั่วไปคาดเข้ากรอบเป้าหมายครึ่งหลังปี 64  ฝากภาครัฐ - เอกชนเร่งลงทุนเพิ่มกระตุ้นศก.

      นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพ จากการส่งออกสินค้าที่ชะลอตัวกว่าที่ประเมินและมีโอกาสฟื้นตัวช้า โดยในปีนี้คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) จะขยายตัวได้ 2.8% จากเดิมคาด 3.3%

      สำหรับ ภาคการส่งออกสินค้าหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้และมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากการกีดกันทางการค้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก โดยการส่งออกในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 0.5% เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าจะติดลบ 3.3% และนำเข้าขยายตัวได้ 1.4% จากปีนี้ที่คาดว่าจะติดลบ 5.2%

       ด้านการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานบางโครงการ ด้านการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงจากรายได้และการจ้างงานที่ปรับลดลงโดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อการส่งออก สำหรับหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง เป็นผลจากภัยแล้ง ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อรายได้เกษตรกรในปี 2563

       “ในปีนี้การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามการฟื้นตัวของปริมาณการค้าโลกและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวสูงในระยะสั้นจากมาตรการภาครัฐ แต่คาดว่าจะชะลอลงในระยะต่อไปจากปัจจัยรายได้”นายดอน กล่าว

        นายดอน กล่าวว่า ด้านสถานการณ์ค่าเงินบาท ยอมรับว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบคู่ค้า แม้จะชะลอลงและเคลื่อนไหวสองทิศทางมากขึ้น จึงยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามผลของมาตรการผ่อนคลายให้เงินทุนไหลออก และพิจารณาความจำเป็นในการออกมาตรการเพิ่มเติมด้วย

      “กนง.สนับสนุนให้ธปท.ดำเนินมาตรการเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น และผ่อนคลายเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงิน เพื่อสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายและช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายเราไม่ได้ปิดประตูเรื่องดอกเบี้ย ยังสามารถทำได้เพิ่มเติมหากสถานการณ์ผิดไปจากที่คาดการณ์ไว้”นายดอน กล่าว

       อย่างไรก็ตาม ระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ยังสะสมความเปราะบางภายใต้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง กนง.เห็นว่าการดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินควรใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่กับการใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ร่วมกันอย่างเหมาะสม

      ทั้งนี้ กนง.เห็นว่า เศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน เช่น ด้านแรงงาน การเข้าสู่สังคมสูงวัยทำให้ประชากรวัยทำงานลดลง ธุรกิจนำเข้าอัตโนมัติมาใช้แรงงานมากขึ้น นอกจากนี้ แรงงานที่ถูกเลิกจ้างอาจกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานยากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานสูงอายุและมีทักษะที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด

        ด้านการลงทุน การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างว่า ไทนมีการออมสูง และการลงทุนต่ำโดยเฉพาะในภาคธุรกิจ การลงทุนของไทยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศแม้เงินออมจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นควรสนับสนุนให้ลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและเสริมศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

      นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2562 และ 2563 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จากราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาดตามเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวต่ำและอุปทานพลังงานที่จะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

        สำหรับ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปปี 2563 จะอยู่ที่ 1-3% โดยสาเหตุที่ธปท.ปรับลดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินและอัตราเงินเฟ้อของไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ส่วนกรณีที่เปลี่ยนมาใช้แบบช่วง โดยไม่มีค่ากลาง เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับนโยบายการเงิน ภายใต้โลกที่ผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง

      ขณะที่การปรับปรุงเกณฑ์การสื่อสารผ่านจดหมายเปิดผนึก เมื่ออัตราเงินเฟ้อออกนอกกรอบเป้าหมาย เพื่อให้ กนง.แสดงความรับผิดชอบและสื่อสารกับสาธารณชนได้ทันการณ์ รวมทั้งสอดคล้องกับหลักการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องมองไปข้างหน้า

       ทั้งนี้ ระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังคงสะสมความเปราะบางภายใต้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง กนง. เห็นว่าการดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินควรใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่กับการใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ร่วมกันอย่างเหมาะสม

       "กนง. เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน เช่น ด้านแรงงาน การเข้าสู่สังคมสูงวัยทำให้มีประชากรวัยทำงานลดลง ธุรกิจนำระบบอัตโนมัติ (automation) มาใช้แทนแรงงานมากขึ้น รูปแบบการจ้างงานเริ่มเปลี่ยนเป็นการรับเหมาบริการและ sub-contract มากขึ้น ซึ่งมีความมั่นคงและสวัสดิการน้อยกว่าการจ้างงานประจำ " นายทิตนันทิ์ กล่าว

      นอกจากนี้ แรงงานที่ถูกเลิกจ้างอาจกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานยากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานสูงอายุและมีทักษะที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ด้านการลงทุน การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างว่า ประเทศไทยมีการออมสูงและการลงทุนต่ำโดยเฉพาะในภาคธุรกิจ การลงทุนของไทยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศแม้เงินออมจะเพิ่มสูงต่อเนื่อง ดังนั้น ควรสนับสนุนให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและเสริมศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!